Fallacy คุณใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมหรือไม่

ที่มา  Cryptomnesia@หว้ากอ.pantip

Fallacy มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ปฤจฉวาที ทุตรรกบท หรือ เหตุผลวิบัติ เหตุผลลวง กล่าวคือ fallacy เป็นการใช้เหตุผลที่ไม่ดี อาจกล่าวเพื่อให้เห็นภาพได้ว่ามันเป็นการใช้เหตุผลอย่างมีเล่ห์ หลอกล่อให้ผู้ฟังยอมรับข้อสรุปที่เสนอด้วยเหตุผลที่ไร้น้ำหนักแต่ฟังดูดี หรือด้วยวิธีการที่ยอกย้อน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่ใช้เหตุผลวิบัติไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เจ้าเล่ห์จริงๆ เพราะมีหลายคนที่ใช้เหตุผลวิบัติโดยไม่รู้ตัว

Fallacy ในทางตรรกศาสตร์แบ่งเป็นหลากหลายชนิด รูปแบบการให้เหตุผลมากมาย มีทั้ง Formal fallacy (เหตุผลวิบัติที่พิสูจน์ความถูกต้องได้โดยเขียนรูปแบบของกฎของความสมเหตุสมผล) และ Informal fallacy (เหตุผลวิบัติที่ไม่จัดในรูปแบบของกฎของความสมเหตุสมผลได้ตายตัว) หากจะให้อธิบายทั้งหมดก็คงจะกินเวลามหาศาลและน่าเบื่อเป็นอย่างยิ่ง จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะที่น่าสนใจและพบได้บ่อยในการถกเถียงในเว็บบอร์ด

อนึ่ง ขอออกตัวก่อนว่า จขกท.ไม่ใช่นักใช้เหตุผลชั้นเลิศ เป็นเพียงนักตรรกศาสตร์มือสมัครเล่นที่ยังคงใช้เหตุผลแบบผิดๆอยู่บ้างในโลกแห่งความจริง ไม่ได้เก่งวิเศษวิโสมาจากไหน ก่อนตั้งกระทู้ก็ทำการบ้านมาเยอะ หาข้อมูลตาแฉะ วัตถุประสงค์ของกระทู้นี้คืออยากให้เพื่อนอ่านแล้วพิจารณาตนเอง ดูละครแล้วย้อนดูตัว จะได้รู้ว่าเราเองก็เคยใช้เหตุผลผิดๆหรือเปล่า และที่ตั้งในห้องหว้ากอก็เพราะตรรกศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งการใช้เหตุผล ซี่งเหมาะสมกับห้องหว้ากอที่นิยมถกเถียงกันด้วยเหตุและผล (ไม่รู้เหมือนกันว่าอ้างอย่างนี้จัดเป็น fallacy หรือเปล่านะ)

Fallacy of accident – ละทิ้งข้อยกเว้น

การสรุปเหตุผลโดยไม่สนใจข้อยกเว้น เป็น fallacy ที่ดูออกง่ายที่สุด แต่ก็ยังมีคนใช้อยู่เนืองๆ เช่น

กระทู้ถามว่าเราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิตใดๆเลยเพราะการฆ่าสิ่งมีชีวิตเป็นการทำความชั่ว ดังนั้นจุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อราต่างๆเราก็ไม่ควรฆ่าใช่หรือไม่ กระทู้ดังกล่าวจัดเป็น Fallacy of accident แบบหนึ่ง

“เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าแบคทีเรีย”

“เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรช่วยตัวเองครับ” (อันนี้ไม่เกี่ยวครับ)

Fallacy of relative to absolute – เหมารวม

การสรุปแบบเหมารวม เป็นการสรุปตามโลกทัศน์ของผู้พูด เมื่อผู้พูดประสบกับเหตุการณ์หนึ่งๆเป็นประจำก็มักจะมองหาภาพรวมหรือรูปแบบของเหตุการณ์นั้นๆ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่ผู้พูดประสบมาไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของความจริงทั้งหมดก็ได้ ตรงข้ามกับอันแรก อันนี้ก็เจอบ่อยมากๆในเว็บบอร์ดเช่นกัน

กระทู้ถามว่าจบจากมหาวิทยาลัยไหนดีที่สุด เก่งที่สุด จัดเป็นกระทู้ล่อเป้า และจะล่อ fallacy ชนิดนี้เข้ามาตอบ

“ที่ทำงานผมมีแต่คนจบจากมหาวิทยาลัย A ซึ่งเก่งๆกันทุกคนเลย ดังนั้นคนที่จบจากมหาวิทยาลัย A เก่งทุกคน”

ในบางครั้ง เมื่อเราเข้าไปอ่านกระทู้ในห้องหนึ่งๆ บ่อยครั้งเข้า เราจะตัดสินภาพรวมของห้องนั้นจากประสบการณ์ที่เราเห็น ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด

“เปิดเข้าไปดูกระทู้ห้องเฉลิมไทยทีไรก็เจอแต่หน้าม้าทุกที ห้องเฉลิมไทยเป็นห้องของพวกหน้าม้า อย่าไปเข้าไปเสียเวลาอ่าน”

“ห้องราชดำเนินมีแต่เสื้อแดงและพวกหัวรุนแรง”

หรืออาจจะกล่าวได้ว่าการเหมารวมคืออคติในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

“โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ออกมากี่รุ่นๆก็แย่ไปหมด รุ่นที่เพิ่งออกใหม่ก็คงเหมือนกัน แย่แบบไม่ต้องรีวิว”

“นักการเมืองที่ผมเคยพบเห็นมีแต่พวกหาประโยชน์ใส่ตน นักการเมืองเป็นพวกโกงกินและทำลายชาติบ้านเมือง”

ในเชิงสังคมศาสตร์ถือว่าข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็น มายาคติ (Myth) คือสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นจริงอยู่วันค่ำทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไปก็ได้

“คนไม่มีศาสนาที่ฉันเจอมีแต่พวกหัวรุนแรงทั้งนั้น ดังนั้นคนไม่มีศาสนาเป็นพวกหัวรุนแรง”

Fallacy of begging question-

เอาคำถามเป็นคำตอบ

การนำเอาสิ่งที่เป็นประเด็นของคำถามมาเป็นคำตอบโดยทางตรงหรือทางอ้อม คาดคะเนบทสรุปจากข้อคำถามโดยไม่มีการพิสูจน์ใดๆทั้งสิ้น หรืออาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการให้เหตุผลแบบวกวน ใช้ข้อเสนอพิสูจน์บทสรุป และแล้วก็ใช้บทสรุปพิสูจน์ข้อเสนอ

กระทู้ห้องเฉลิมไทยถามว่าทำไมถึงแต่งตั้งให้นางสาวไทยเป็นผู้ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศไทย

“เพราะนางงามจะทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น”

ห้องสมุดหมวดปรัชญามีคนตั้งกระทู้ถามว่า ทำไมเราจึงต้องกตัญญูต่อบิดามารดา

“ การกตัญญูเป็นคุณธรรมที่ลูกต้องมี”

การตอบแบบนี้จะทำให้บทสนทนาเหมือนการพายเรือในอ่าง ถามเท่าไรก็ไม่ได้คำตอบที่แท้จริง

Fallacy of false cause

(post hoc ergo propter hoc) –

เพราะว่าสิ่งนี้เกิด…สิ่งนั้นจึงบังเกิด

คือการสรุปว่าเหตุการณ์ A เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ B โดยอาศัยแค่ว่า B เกิดขึ้นตาม A เท่านั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วอาจจะเป็นแค่ความบังเอิญหรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง (fallacy of ignoring a common cause) ซึ่งความจริงควรมีการทดลองภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมก่อนที่จะสรุป เช่น

กระทู้นำเสนอข่าวอาชญากรรม เด็กฆาตกรรมคนข้างบ้านโดยเลียนแบบพฤติกรรมในเกมที่เล่นเป็นประจำ

“เด็กคนนี้ติดเกมที่มีความรุนแรงสูงและฆ่าคนโดยเลียนแบบพฤติกรรมในเกม ดังนั้น เกมเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นฆาตกร”

กระทู้สร้างความชอบธรรมให้หนัง AV ญี่ปุ่น

“ในประเทศญี่ปุ่นมีทัศนคติเปิดกว้างอย่างมากเกี่ยวกับหนังโป๊ ประเทศญี่ปุ่นมีอาชญากรรมทางเพศต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นหนังโป๊ช่วยลดอาชญากรรมทางเพศ”

(ในกรณีดังกล่าว จขกท.แค่ยกตัวอย่างการสรุปแบบไม่สมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อมูลยืนยัน ณ ขณะที่ความจริงมีงานวิจัยออกมารองรับประโยคข้างต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาปัจจัยทางสังคมอื่นของประเทศญี่ปุ่นประกอบด้วย)

post hoc ergo propter hoc ยังคงถูกใช้อีกมากตามหน้าหนังสือพิมพ์ประเทศสารขัณฑ์โดยเฉพาะเรื่องเหนือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ที่มักโยงเหตุการณ์ธรรมชาติบางอย่างกับเหตุการณ์ประหลาด ความบังเอิญที่นานๆเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เช่น พบงูเผือกในบ้านแล้วถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ จึงสรุปว่างูเผือกเป็นผู้นำโชคมาให้เป็นต้น หรือแม้แต่ข่าวนี้…

False dilemma – ทางเลือกลวง

ผู้ให้เหตุผลสร้างทางเลือกขึ้นมาสองทางและบังคับให้เลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้นสำหรับแก้ปัญหา และเนื่องจากทางเลือกหนึ่งในนั้นไม่เป็นที่น่าปรารถนา จึงเป็นการบีบบังคับโดยกลายๆให้อีกฝ่ายเลือกทางที่ตนเองต้องการ ทั้งที่ในความจริงแล้ว คำถามดังกล่าวมีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นจริงหรือ?

จากกระทู้ประวัติศาสตร์ คุณ coffeecompany หลงป่าประเทศอูกันดา มีผู้ให้ข้อสงสัยและจับผิดเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้ไม่เชื่อถือนั้นมีจำนวนมากกว่า เมื่อสมาชิกบางคนออกมาแสดงความเห็นว่า เป็นการจับผิดกันเกินจริงหรือเปล่า บางทีอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันก็ได้ ก็มีคนออกมากล่าวว่า ความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการจับผิดเป็นสาวกคุณคอฟฟี่ที่คอยออกมาแก้ต่าง ทำให้เกิด false dilemma ขึ้นว่าในเว็บบอร์ดมีคนอยู่เพียงสองประเภทเท่านั้นคือ คนที่ไม่เชื่อคุณคอฟฟี่ กับ สาวกคุณคอฟฟี่

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์พันทิปก็คือ เหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นกับบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ได้ออกมายึดถนน ชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล ทำลายงานประชุมอาเซียน แล้วอ้างว่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สมาชิกหลายคนในพันทิปกล่าวว่า หากไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนปช.ก็แสดงว่าเป็นพวกพันธมิตร แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนปช.จำเป็นต้องเห็นด้วยกับพันธมิตรหรือไม่

Irrelevant conclusion (ignoratio elenchi) –

สรุปมั่วซั่ว

การสรุปแบบไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม นำประเด็นใดประเด็นหนึ่งมาสรุปผลอย่างที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับประเด็นของกระทู้ถาม ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกสบายใจในการให้เหตุผล fallacy นี้มีการใช้บ่อยมากในเว็บบอร์ด โดยมากถูกใช้โดยผู้ไม่มีวุฒิภาวะทางความคิด เนื่องจากยังไม่มีวุฒิภาวะทางความคิดจึงสรุปเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้

เมื่อติงว่าการใช้ภาษาวิบัติในอินเตอร์เน็ตนั้นไม่เหมาะสม ในเว็บเด็กดื้อมีผู้ให้เหตุผลว่า

“ในเมื่อใช้ภาษาวิบัติก็อ่านรู้เรื่องเหมือนกัน การสื่อสารนั้นแค่เข้าใจกันก็ถือว่าพอแล้ว”

 

“การใช้ภาษาวิบัติ เป็นการประดิษฐ์คำใหม่ให้ดูสร้างสรรค์ แปลกแหวกแนว ไม่เห็นจะไม่เหมาะสมตรงไหน”

“การใช้ภาษาวิบัตินั้นเหมาะสมแล้ว เพราะทำให้พิมพ์ได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา”

ลองพิจารณาดูว่าเหตุผลเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ในการสรุปความ

Slippery slope – ทางลาดชันสู่หุบเหวหายนะ

ผู้พูดนำพาผู้ฟังไปสู่ชุดของเหตุและผลจำนวนมาก และสรุปไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่แย่ที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเอาจริงเข้าแล้ว เหตุการณ์สุดท้ายไม่จำเป็นต้องเกิดจากเหตุการณ์แรกสุด เช่น

กระทู้ไม่สนับสนุนเสื้อผ้าขนสัตว์

“การใช้เสื้อผ้าขนสัตว์เป็นการสนับสนุนการฆ่าสัตว์ หากเราฆ่าสัตว์เพื่อเอาขนสัตว์มาใช้ แสดงว่าเราไม่เคารพสัตว์ ถ้าเราไม่เคารพสัตว์ ก็เท่ากับว่าเราไม่เคารพสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ถ้าเราไม่เคารพสิ่งมีชีวิต เราก็เริ่มฆ่ากันเอง สุดท้ายเราก็ฆ่ากันตายหมด ดังนั้นเราไม่ควรใช้เสื้อผ้าขนสัตว์”

กระทู้การุณยฆาต

“การอนุญาตให้กระทำการุณยฆาตจะนำไปสู่ การเปลี่ยนทัศนคติความคิดของแพทย์ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการลดคุณค่า ให้ความสำคัญกับชีวิตน้อยลง โดยให้ดูกระแสสถานะของการแพทย์ใน US ที่การบีบบังคับด้านการเงินทำให้ลำบากในการดูแลรักษาจัดการซึ่งเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แพทย์-คนไข้ ในวิถีทางที่ย่ำแย่ทางศีลธรรม สำหรับระบบการดูแลสุขภาพการตัดสินเรื่องค่าใช้จ่ายจะครอบงำการตัดสินใจของแพทย์ที่จะปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยป่วยมากๆ หรือ ย่ำแย่มากๆ และการดูแลที่พิเศษและค่าใช้จ่ายที่แพงสำหรับคุณภาพชีวิตที่ลดน้อยลงเท่านั้น ดังนั้นทัศนะนี้จะเป็นการเย้ายวนกดดันให้แพทย์ถามถึงการุณยฆาตหรือบางทีก็ฆ่าพวกเขา(ผู้ป่วย)ซึ่งฝืนโดยตรงกับเจตจำนงของพวกเขา”

(ประโยคข้างต้นเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริงในบทความ Do Physicians Have an Inviolable Duty Not to Kill? ของ Gary Seay)

Fallacy of questionable analogy –

การเปรียบเทียบอย่างไม่เหมาะสม

เมื่อสิ่งหนึ่งเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งก็นำไปเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันได้ เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนได้ข้อสรุปที่ไม่เหมาะสมในที่สุด เช่น

กระทู้การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือความเร็วแสง

“แต่ก่อนไม่มีใครคิดว่าจะมีคนวิ่งเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ภายในเวลาสี่นาทีหรือความเร็วเสียงจะถูกทำลายลงได้ แต่เราก็ทำได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าความเร็วแสงที่หลายคนเคยเชื่อว่าทำลายไม่ได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตข้างหน้า”

จะเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความเร็วนักวิ่ง ความเร็วเสียงและมาจบที่ความเร็วแสงซึ่งไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้

“หากเรายอมให้กฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างรักร่วมเพศผ่านมติ ต่อไปเราคงยอมให้มีกฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างคนกับสัตว์ด้วยกระมัง”

น่าเศร้าใจที่ตัวอย่างข้างต้นถูกนำมาใช้ในโลกแห่งความจริงโดยพวกต่อต้านรักร่วมเพศ (If we legalize gay marriage, what’s stopping us from legalizing so-called “marriages” based on bestiality?) ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ถูกเปรียบเทียบอยู่ในระดับเดียวกัน

Double standard – สองมาตรฐาน

คือการใช้มาตรฐานการตัดสินหรือการปฏิบัติต่างกันในสถานการณ์ที่เหมือนกัน ทั้งๆที่ในสถานการณ์นั้นไม่มีเหตุผลที่สมควรที่จะทำให้มีการใช้มาตรฐานต่างกันเลย

ตัวอย่างสุดคลาสสิค เมื่อมีผู้ตั้งกระทู้ต่อว่าล็อกอินที่คอยเข้ามาโพสว่า “ผ่านมาอ่าน” ทุกความคิดเห็นที่หกสิบห้า มีผู้ให้แสดงความเห็นว่าก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกคนหนึ่งที่คอยเข้ามาโพสว่า “…เข้ามาแล” เฉยๆทุกกระทู้ ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย

“ไม่รู้สิครับ ผมว่ามันต่างกันนะ คุณ Mr.X เขาอยู่มาก่อน และก็โพสอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ส่วนใครจะมาเลียนแบบนั้นรับไม่ได้หรอกครับ”

หรือเมื่อมีคนถามว่า ทำไมกระทู้นอกเรื่องที่ตั้งโดยสมาชิกท่านหนึ่งถึงยังอยู่ได้โดยไม่ถูกลบ ขณะที่ถ้าเป็นคนอื่นตั้งกระทู้ในลักษณะเดียวกันกลับถูกลบ ก็มีคนให้ความเห็นว่า

“คุณ N เขาเล่นเว็บบอร์ดนี้มาตั้งนานแล้วนะครับ ที่ผ่านมาก็ตอบกระทู้ดี ช่วยเหลือผู้อื่นตั้งมากมาย แค่ตั้งกระทู้นอกเรื่องกระทู้เดียวจะเป็นไรไป”

น่าเศร้าใจอีกครั้งตรงที่ ตัวอย่างทั้งสองที่ยกขึ้นมานั้น เกิดขึ้นจริงเสมอในโลกพันทิป

Argumentum ad Misericordiam –

อ้างความน่าเห็นใจ

การขอความเห็นใจเป็นวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความสงสารหรือเห็นอกเห็นใจในเรื่องที่ผู้พูดประสบ แล้วสรุปเหตุผลตามความเห็นใจนั้น แทนที่จะใช้หลักตรรกะในการพิสูจน์ความ การช่วยเหลือ เห็นใจกันเป็นเรื่องดีจริง แต่ต้องแยกแยะให้ถูกและคำนึงถึงสิ่งอื่นๆด้วยเช่น ความยุติธรรม ความถูกต้อง มาตรฐานสังคม หากเรายอมรับเหตุผลด้วยความเห็นใจในครั้งนี้ จะเป็นผลให้เรายอมรับเหตุผลอื่นๆในสถานการณ์เดียวกันด้วยหรือไม่ เช่น

มีผู้ตั้งกระทู้ถามว่า เด็กผู้หญิงจากชนบทที่มาขายบริการในกรุงเทพฯถือว่าผิดไหม

“เด็กที่มาขายตัวในกรุงเทพนั้นไม่ผิดหรอก เพราะไม่มีการศึกษา บ้านก็ฐานะยากจน หากไม่ขายตัวแล้วเขาจะทำอะไรกิน ใครจะเลี้ยงดูครอบครัวของเขา”

แต่จริงหรือไม่ที่ว่าหากมีเหตุผลที่น่าเห็นใจแล้ว การกระทำนั้นจะถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนั้น การเป็นมือปืนฆ่าคนเพราะความจนก็คงไม่ผิด หรือหากมีคนมาปล้นเงินที่ได้มาจากการขายตัวของคนพูดข้างต้นด้วยเหตุผลเรื่องความจน คนพูดก็ต้องบอกว่าคนปล้นไม่ผิดเช่นกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูตลกไปเลย เคยมีคดีว่าเด็กคนหนึ่งกำลังถูกไต่สวนในคดีอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายที่สุด โดยเขาได้เอาขวานจามศีรษะมารดา และบิดาของตนเสียยับเยิน เมื่อมาถึงศาล เห็นว่าศาลมีพยานหลักฐานต่างๆ มากมายที่รัดตัวจนดิ้นไม่หลุด จึงได้ขอความกรุณาต่อศาลให้ลดหย่อนผ่อนโทษให้ โดยอ้างว่าเพราะตนเป็นกำพร้าทั้งพ่อ และแม่อยู่แล้ว

การร้องขอความเห็นใจพบได้มากในพันทิป สำหรับห้องหว้ากอต้องบอกว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ผล (เช่น ตั้งกระทู้ผิดหมวด โดนกดลบแล้วอ้างว่าหว้ากอใจดำ)

Intentional fallacy – อ้างเจตนา

คือการให้เหตุผลกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่งๆว่ามีความชอบธรรมแล้ว เพราะทำไปด้วยเจตนาดี เช่น เมื่อถามว่าแต่งตัวโป๊ไม่กลัวอันตรายหรือ แล้วคนตอบว่าไม่ได้แต่งเพื่อยั่วใคร แต่จริงหรือไม่ที่หากไม่มีเจตนาให้เกิดผลอย่างใดแล้ว ผลอย่างนั้นจะไม่เกิด หากเป็นเช่นนั้น เวลาใส่ทองเส้นโตไปเดินที่โจรชุมก็คงไม่ต้องกลัวอะไรกัน เพราะคนที่ใส่ทองไม่ได้มีเจตนาให้โจรปล้น

มีการตั้งกระทู้บทความดีๆแต่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของห้องหว้ากอ ผู้ตั้งกระทู้ได้ชี้แจงว่า ได้พบบทความดีๆก็อยากจะแบ่งปันให้ชาวหว้ากออ่านกัน แม้จะนอกเรื่องและไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สักกระผีกเลยก็ตาม ในเมื่อเจ้าของกระทู้มีเจตนาดีอย่างนี้แล้วผิดตรงไหน ทำไมกระทู้นี้ถึงจะถูกลบ

จริงหรือไม่ที่เมื่อมีเจตนาดีแล้วการกระทำนั้นจะไม่ผิด หากทุกคนตั้งกระทู้ผิดหมวดโดยอ้างว่ามีเจตนาดี เนื้อหาของห้องหว้ากอจะยังคงเป็นวิทยาศาสตร์อยู่หรือไม่

Argumentum ad Ignorantiam –

การอ้างความไม่รู้

เมื่อไม่รู้จึงสรุปแบบไม่รู้ (ทางศาสนาพุทธเรียกว่า อวิชชา) แม้สำมัญสำนึกแล้วเราอยู่แล้วว่าอ้างไม่ได้แต่ก็ยังมีคนอ้าง วิธีนี้มักอ้างอยู่ในรูป “ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งหนึ่งจริง ฉะนั้นสิ่งนั้นเท็จ หรือในทางกลับกัน ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งหนึ่งเท็จ ฉะนั้นสิ่งนั้นจริง” เป็นข้ออ้างที่ใช้กันอย่างมากทั้งทางฝั่งวิทยาศาสตร์และศาสนา ดังนั้นจึงพบได้มากที่สุดในกระทู้ความเชื่อปะทะวิทยาศาสตร์

ในเมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า วิญญาณมีอยู่จริงไม่ ดังนั้นวิญญาณไม่มีอยู่จริง

 

ในเมื่อไม่มีหลักฐานว่าตายแล้วสูญ ดังนั้นโลกหลังความตายมีอยู่จริง

เห็นได้ว่าข้อบกพร่องของ fallacy ชนิดนี้คือการด่วนสรุปโดยที่ยังไม่รู้ความจริง ไม่ว่าวิญญาณจะมีอยู่จริงหรือไม่ เราไม่สามารถสรุปแบบฟันธงลงไปได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์เด่นชัด

Argumentum ad Baculum –

ใช้อำนาจเข้าข่ม

Fallacy ชนิดนี้มักถูกใช้ในกรณีที่ผู้ถกเถียงเอาชนะด้วยเหตุผลไม่ได้ ง่ายที่สุดคือการใช้อำนาจเข้าข่มเพื่อให้ยอมรับในเหตุผล จัดเป็นเหตุผลวิบัติที่เล่นกับความกลัวของผู้อื่น (Appeals to fear) โดยที่ผู้พูดอาจมีอำนาจนั้นอยู่ในมือจริงหรือไม่ก็ได้ครับ อย่างเช่น

มิสเตอร์พลังงานกล่าวว่าเขาสามารถออกแบบเครื่องจักรนิรันดร์ที่ให้พลังงานได้อย่างไม่สิ้นสุด แต่ผู้ฟังกลับต่างรู้สึกกังขาและกล่าวว่าผิดกฎเทอร์โมไดนามิกส์ ทุกคนต่างเรียกร้องให้มิสเตอร์พลังงานออกมาชี้แจง มิฉะนั้นก็เป็นพวกลวงโลกดีๆนี่เอง มิสเตอร์พลังงานเถียงด้วยเหตุผลสู้ไม่ได้จึงขู่ว่าจะฟ้องร้องทุกคนที่กล่าวหาว่าเขาเป็นพวกลวงโลก

ในกรณีดังกล่าว มิสเตอร์พลังงานไม่ได้ตอบคำถามผู้ฟัง แต่กลับยกประเด็นเรื่องการฟ้องร้องขึ้นมาเพื่อให้อีกฝ่ายยอมจำนน (หรือเปล่า?)

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของ Argumentum ad Baculum เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประธาณาธิบดีเชอร์ชิลได้บอกที่ประชุมว่าโป๊ปได้เสนอทางที่ควรปฏิบัติบางประการ แต่สตาลินไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และได้ถามว่า “ท่านว่าโป๊ปมีมีทหารพอจะส่งออกปฏิบัติการในแนวรบได้สักกี่กองพล” สตาลินได้ยกอำนาจ(ทางทหาร)ของตนที่เหนือกว่าเพื่อข่มความเห็นของโป๊ปให้ตกลงไป

หรืออย่างในรูปก็จัดเป็น Argumentum ad Baculum ครับเนื่องจากเป็นการเล่นกับความกลัวของมนุษย์

Argumentum ad Populum – อ้างคนหมู่มาก

การเคารพความเห็นของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งดี การช่วยกันตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เป็นสิ่งดี ความเห็นที่พิจารณาจากคนส่วนใหญ่นั้นมักเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่เสมอไปหรือไม่? หรือบางครั้งการอ้างความเห็นคนส่วนมากอาจไม่ถูกต้องเพราะคนส่วนมากอาจไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงๆก็ได้ หรือบางครั้งคนส่วนมากก็อาจเป็นฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง เช่น การอ้างว่าใครๆก็ทำกันทั้งนั้น

กระทู้รณรงค์เลิกซื้อขายของละเมิดลิขสิทธิ์

”ผมคิดว่าเรื่องของเถื่อน ผิดลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว อย่าว่าแต่ในบ้านเราเลย จีนนี่ก็ตัวดี มีประชากรกี่ล้านคนล่ะ ใช้ของก็อปกันทั้งนั้น พวกมะกันเองก็เถอะ…”

กระทู้นอกเรื่อง

“ใครๆก็ตั้งกระทู้นอกเรื่องกันทั้งนั้น ทำไมเราจะตั้งกระทู้นอกเรื่องไม่ได้ล่ะ ถ้าจะว่าก็ต้องว่าคนทั้งห้องสิ”

จะเห็นได้ว่าการกระทำหรือความเชื่อของคนหมู่มากไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือดีงามเสมอไป

เราควรพิจารณาว่าเมื่อใดควรอ้างคนส่วนมาก ไม่ควรอ้างพร่ำเพรื่อ มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถละทิ้งความคิดที่ผิด ค่านิยมที่ไม่เหมาะสมได้ (อันนี้นอกจากจะเป็นการใช้ตรรกะไม่เหมาะสมแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดปัญหาสังคมอีกด้วย)

Fallacy of accent

(Quoting out from context) –

ตัดข้อความเพียงส่วนหนึ่งมาอภิปราย

เป็น fallacy ที่น่าเกลียดมากแต่กลับใช้กันเยอะ คือการเถียงแบบศรีธนญชัย ตัดเพียงข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งมาวิพากษ์ การยกเพียงข้อความส่วนหนึ่งของหนังสือ หรือของคำพูดใครก็ตามมาโดยไม่พิจารณาบริบทที่อยู่รอบข้างมีผลทำให้สรุปความแบบผิดๆได้สูงมาก และถือเป็นเทคนิคหนึ่งของ Propaganda อย่างหนึ่ง ลักษณะการใช้เหตุผลดังกล่าวพบมากในห้องราชดำเนิน จนเว็บมาสเตอร์ต้องออกกฎว่าห้ามถกเถียงกันแบบเจ้าถ้อยหมอความ ตีความทีละประโยค เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในห้องอื่นก็ใช่ว่าจะไม่มี ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดเอย (ตีความหนังสือโดยยกมาเพียงหนึ่งประโยค) ห้องศาสนาเอย (ตีความพระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกจากข้อความเพียงส่วนเดียว-ทั้งที่ฉบับจริงยาวหลายร้อยหน้า) ห้องเฉลิมไทยเอย (ตีความคำพูดดาราโดยการยกมาเพียงประโยค-ไม่ต่างจากนิสัยที่หนังสือพิมพ์หัวสีของไทยชอบใช้กัน-ยกตัวอย่างเช่นกระทู้ดีเจนายหนึ่งเรียกยศสิบเอก, สอ. เป็นสูบอึ) หรือแม้แต่ห้องหว้ากอเองก็มีสมาชิกคนหนึ่งที่ปรากฏตัวเกือบทุกครั้งเมื่อมีกระทู้วิวัฒนาการ สมาชิกคนดังกล่าวจะพยายามตีข้อความ หลักฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการให้ตกลงไปโดยการยกข้อความของความคิดเห็นอื่นมาแย้งทีละประโยคๆ โดยไม่มองภาพรวมทั้งหมดที่ความคิดเห็นต้องการจะสื่อ

Argumentum ad Hominem – โจมตีบุคคล

กล่าวคือการนำประเด็นของคุณลักษณะ ประวัติส่วนตัวของบุคคลมาร่วมในประเด็นการโต้เถียง ในการโต้แย้งกันนั้นเราต้องการพิสูจน์ว่าเหตุผลของใครถูกขอใครผิด และเหตุผลจะถูกหรือผิดนั้นไม่ได้ขึ้นกับว่าใครเป็นผู้พูด หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หากสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักเหตุผล ไม่ว่ามันจะออกมาจากปากของใครมันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกอยู่วันยังค่ำ ดังนั้น การโจมตีที่ตัวผู้พูด จึงไม่ใช่เหตุผลว่าสิ่งที่กำลังตัดสินกันอยู่ถูกต้องหรือไม่

“ความจริงของประโยค ไม่ขึ้นกับผู้ที่พูดประโยคนั้น และไม่ขึ้นกับเจตนาในการพูดประโยคนั้น”

การโจมตีบุคคลจะเล่นกับประเด็นที่กำลังตัดสินกันอยู่หรือไม่ก็ได้ เช่น มีคนให้ความเห็นการรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็มีผู้ออกมาแย้งว่าผู้พูดเป็นพวกมังสวิรัติจึงพูดอย่างนี้ (โจมตีเกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง) หรือมีคนให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการสปอยของห้องเฉลิมไทยว่าไม่จำเป็นต้องขึ้นหัวกระทู้ทุกกรณีก็ได้ ก็มีผู้ออกมาแย้งว่าผู้พูดตอบเกรียนๆมาหลายกระทู้แล้ว ดังนั้นคำพูดในกระทู้นี้ก็เชื่อถือไม่ได้ (โจมตีไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง)

การโจมตีบุคคลเป็น fallacy ที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกไซเบอร์ เมื่อการทะเลาะถกเถียงเกิดขึ้นในเว็บบอร์ด สิ่งที่เราพบคือประวัติส่วนตัวของฝ่ายหนึ่งจะเริ่มถูกขุดคุ้ยและประจานให้เสื่อมเสีย หรือไม่ก็เล่นที่การใช้ภาษา (จัดเป็น Ad Hominem เช่นกัน เนื่องจากไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง) ทั้งนี้ไม่ได้กล่าวว่าความผิดที่กระทำไม่สมควรประจาน หรือภาษาที่ผิดไม่จำเป็นต้องตำหนิเพื่อแก้ไข แต่เราควรแยกแยะประเด็นให้ออกจากกันระหว่างการโจมตีที่ตัวบุคคลกับเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากการโจมตีบุคคลจะทำให้การตัดสินมีอคติได้

Argumentum ad Hominem Tu Quoque –

แกก็เหมือนกัน ดังนั้นฉันไม่ผิด

คือ Ad Hominem อีกรูปแบบที่พบได้มากไม่น้อยหน้ากัน พูดง่ายๆคือกล่าวว่าอีกฝ่ายเองก็(เคย)กระทำตรงข้ามกับสิ่งที่พูด ดังนั้นข้อความที่พูดออกมาจึงเชื่อถือไม่ได้ เช่น คุณหนุ่ยกล่าวว่าการดื่มเหล้านั้นไม่ดีต่อสุขภาพแต่ตัวคุณหนุ่ยเองก็ยังดื่มเหล้าอยู่ เด็กหญิงโหน่ยฟังแล้วก็คิดว่าสิ่งที่คุณหนุ่ยพูดนั้นไม่น่าจะถูกเพราะถ้าการดื่มเหล้าไม่ดีจริง ทำไมคุณหนุ่ยถึงยังดื่มล่ะ เมื่อเราพิจารณาดูแล้วอาจจะเริ่มคล้อยตามและมองว่าการให้เหตุผลของเด็กหญิงโหน่ยแบบนี้ไม่เห็นจะผิดตรงไหน จึงอยู่ที่ว่าการดื่มเหล้าทำให้คำพูดของนายหนุ่ยไม่น่าจะเชื่อถือแต่ไม่ได้พิสูจน์ว่าข้อความที่นายหนุ่ยพูดนั้นเป็นสิ่งที่ผิด

ตัวอย่างกระทู้ห้องเฉลิมกรุงเกี่ยวกับการซื้อซีดีเถื่อน หรือโหลดเพลงจากอินเตอร์เนต

นาย A : การซื้อซีดีเถื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เราไม่ควรสนับสนุนทุกรูปแบบ
นาย B : การโหลดเพลงจากอินเตอร์เนตก็มักง่ายเหมือนกัน ไม่ควรทำเพราะเป็นการส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์
นาย C : น่าจะมีกฎหมายที่ออกมาควบคุมเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเสียทีนะ
นาย D : แหม อยากถามว่าพวกที่ไม่เห็นด้วยๆกันเนี่ย ใช้วินโดว์แท้กันหรือเปล่าครับ ถ้าเปล่าก็อย่ามาพูดดีกว่า
นาย A, B, C : …..

การซื้อซีดีเถื่อน หรือโหลดเพลงจากอินเตอร์เนตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าผู้พูดจะเคยซื้อ เคยใช้ของผิดลิขสิทธิ์ใดมาก่อนก็ไม่ทำให้ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงไปได้

Strawman fallacy – หุ่นไล่กา

Strawman เป็นการโจมตีที่ช่องโหว่ของเหตุและผล กล่าวคือพยายามเบี่ยงประเด็นจากสิ่งที่โต้แย้งได้ยาก ไปสู่สิ่งที่มีช่องโหว่เยอะๆ ที่สามารถเถียงได้ง่ายกว่า หรืออาจจะเป็นการโจมตีบุคคลโดยดึงประเด็นที่อ่อนไหวมาขยายความให้ดูใหญ่โตและโต้เถียงได้ยาก อันเป็น fallacy ที่พวกเทพในเว็บบอร์ดชอบใช้เพื่อให้ตัวเองชนะ และยังเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นอีกวิธีหนึ่งด้วย

กระทู้รักชาติ

นาย A : ความคลั่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก่อให้เกิดความรุนแรงต่างๆตามมาได้
นาย B : เพราะชาติทำให้ผมมีชีวิตได้อยู่ทุกวันนี้ หากจะให้ทำอะไรเพื่อชาติผมทำได้ทั้งนั้น จะว่าคลั่งชาติก็ได้ แล้วตัวคนพูดล่ะรักชาติหรือเปล่า ถึงได้มากล่าวว่าคนอื่นคลั่งชาตินั้นไม่ดี

จะเห็นได้ว่านาย A ไม่ได้พูดเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองไม่รักชาติ แต่ถูกยกเป็นเป้าโจมตีขึ้นมาเฉยๆ

กระทู้เสียตัววันวาเลนไทน์

นาย A : ผมเห็นว่าเราคงห้ามไม่ให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันในวันวาเลนไทน์ไม่ได้ เราควรรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อและท้องก่อนวัยอันควร
นาย B : อ๋อ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฟรีเซ็กส์ใช่ไหม แค่นี้ภาพลักษณ์ประเทศไทยก็แย่ไม่พอหรือไง! จะให้ยุให้เสียตัวกันในวันวาเลนไทน์เลยใช่ไหม

นาย A ยังไม่ได้พูดเลยว่าสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ เขาเสนอทางป้องกันอื่นที่อาจจะเหมาะสมกว่า แต่นาย B กลับยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ทำให้นาย A ถูกมองในแง่ลบ

References

จำนง ทองประเสริฐ. ตรรกศาสตร์: ศิลปะแห่งการนิยามความหมายและการให้เหตุผล. 2517. พิมพ์ครั้งที่ 5. แพร่พิทยา.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. การใช้เหตุผล: ตรรกวิทยาเชิงปฏิบัติ. 2538. พิมพ์ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชัชชัย คุ้มทวีพร. ตรรกวิทยา. 2534. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมประสงค์ น่วมบุญลือ. หลักแห่งเหตุผล. เอกสารประกอบการสอนคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ปกรณ์ สิงห์สุริยา. เหตุผลวิบัติ. Site: http://gotoknow.org/post/tag/fallacy
David Roberts. Reasoning: Other Fallacies. Site: http://writing2.richmond.edu/WRITING/wweb/reason2d.html
http://atheism.about.com/library/FAQs/skepticism/blfaq_fall_poisoningwell.htm
http://www.nizkor.org/features/fallacies/index.html#index
http://gotoknow.org/blog/neutral/206114
http://www.fallacyfiles.org

————————————————————————

สุดท้ายนี้จขกท.ก็ต้องขออภัย หากไปกัดจิกใครเข้าจนรู้สึกแสบๆคันๆ (ตัวอย่างที่เกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ เรียนให้ทราบว่าจขกท.ไม่ได้คิดเองแต่ยกตัวอย่างมาจากตำราตรรกศาสตร์) ทั้งนี้ก็ขอให้เชื่อเถอะว่าพวกเราต่างใช้ fallacy ทุกๆวันโดยไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นการใช้เหตุผลแบบไม่เหมาะสม ถามว่ามีข้อเสียไหม แน่นอนอยู่แล้ว การใช้เหตุผลอย่างไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด นำไปสู่คำตอบที่ไม่สมเหตุสมผล หรือคำตอบที่ได้มาโดยมิชอบ (กึ่งบังคับให้ความเห็นอีกฝ่ายยอมจำนน) กระทู้นี้ก็หวังแค่ว่า ก่อนที่เราจะโต้เถียงกันเรื่องอะไรก็ขอให้พิจารณากันก่อนว่าเราใช้เหตุผลอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ครับ

(Visited 3,705 times, 1 visits today)
Spread the love

8 comments

  1. Blog ที่ดีมากครับ รู้สึกกระจ่างกว่าเดิมเลยว่า fallacy มันแยกแยะเป็นแบบไหนได้บ้าง

  2. เรียบเรียงและยกตัวอย่างดีมากครับ จากเรื่องยากๆ อ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ

    1. ยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับคุณ Cryptomnesia จากห้องหว้ากอ pantip.com ครับ ผมขึ้นเครดิตและ link ไว้ที่ด้านบนบทความครับ

  3. ” แต่จริงหรือไม่ที่ว่าหากมีเหตุผลที่น่าเห็นใจแล้ว การกระทำนั้นจะถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนั้น การเป็นมือปืนฆ่าคนเพราะความจนก็คงไม่ผิด หรือหากมีคนมาปล้นเงินที่ได้มาจากการขายตัวของคนพูดข้างต้นด้วยเหตุผลเรื่องความจน คนพูดก็ต้องบอกว่าคนปล้นไม่ผิดเช่นกัน ”

    การนำเรื่องการขายตัว การปล้น และการฆ่าคน มาเปรียบเทียบระดับเดียวกันเป็น การเปรียบเทียบอย่างไม่เหมาะสม หรือเปล่าครับ

  4. อ่านตั้งแต่ต้นจนจบเลย เ็ป็นบทความที่น่าสนใจมาก พวกเหตุผลที่ฟังแล้วรู้สึกทะแม่งๆ แต่บอกไม่ถูกว่ามันผิดตรงไหน ถูกจัดหมวดหมู่อยู่ในนี้หมดเลย 🙂

Comments are closed.