คำเตือน เนื้อหาในบทความนี้เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์
จากที่ตัดสินใจตีตั๋วเข้าไปดูในโรงมา ผมได้รับรู้ถึงความตั้งใจใส่ใจของผู้กำกับเป็นอย่างมาก เชื่อว่าได้ทุ่มเทกับงานนี้เต็มร้อยจริงๆ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ได้ตามที่ต้องการ จนทำให้หมดกำลังใจและประกาศว่าจะไม่ขอกำกับหนังอีกต่อไป
เหตุเพราะตัวหนังแม้จะเด่นเรื่องโปรดักชั่นและฉากแอคชั่นที่นับว่าสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการหนังไทยได้ และจับประเด็นได้น่าสนใจ แต่กลับด้อยที่บทภาพยนตร์ ไม่สามารถทำให้คนดูให้ความรู้สึกร่วมไปกับตัวหนังได้ ผมแปลกใจที่บางฉาก บางบทดีมากๆ แต่บางฉากกลับไม่ได้เรื่อง สลับไปสลับมาแทบจะทั้งเรื่องเหมือนไม่ใช่ผู้กำกับคนเดียวกัน และโฆษณาแฝงที่น่าเกลียดราวกับดูซิทคอมที่น่าเบื่อหน้าจอทีวีที่บ้าน
องค์แรก ความเป็นตัวตนของอินทรีแดง
จากหนังเรารู้เพียงโรมเคยอยู่หน่วยรบพิเศษแต่โดนหักหลังโดยรัฐบาล และโดนยิงแต่รอดมาได้ จากนั้นกลายเป็นอินทรีแดงมาคอยไล่ฆ่าคนชั่ว
ผมว่ามันไม่ค่อยจะ makesense ซักเท่าไหร่ คือถ้าแค่แค้นรัฐบาล ทำไมไม่ไปจัดการนายกที่เป็นคนสั่งการก่อน กลับกลายเป็นฮีโร่ใส่หน้ากาก ไปไล่ฆ่าพวกค้ายา พวกบ้ากามหรือพวกองค์การลับอย่างมาตุลีทำไม???? บทหนังน่าจะนำเสนอประเด็นอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านี้ อาจจะเป็นความคับแค้น หรือความลับอะไรบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนให้คนคนนึงต้องมาสวมหน้ากาก มือเปื้อนเลือด เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพื่อให้ได้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
องค์ที่สอง ความสัมพันธ์กับวาสนา
ฉากที่เจอวาสนาครั้งแรกนั้นอินทรีแดงหนีการตามล่าของมาตุลีอยู่ โดยใช้ปืนจี้วาสนาและบังคับให้ขับรถพาหนี ระหว่างนั้นอินทรีแดงโดนยิงที่หน้า วาสนาเลยพาไปรักษา ???? แถมให้เพื่อนที่เป็นหมอปิดเป็นความลับ โอ้มายก๊อซซซ ถ้าคุณโดนโจรปล้นแล้วโจรโดนยิงคุณจะพาโจรไปรักษา แล้วก็รักกับโจรแค่นั้นเหรอ????? มันน่าจะมีฉากแบบน้ำเน่าก็ได้ เช่นเอาตัวบังปืนให้ หรือเอาพูดประโยคเด็ดๆยัดใส่ปาก ทำให้รู้ว่ามีอุดมการณ์เดียวกัน
องค์ที่สาม ศัตรูของอินทรีแดง
ปีศาจดำ เดิมเป็นหน่วยรบที่รัฐบาลส่งมาจัดการกับหน่วยของโรม ก่อนจะเป็นอินทรีแดง
เป็นคนยิงโรม แต่ก็โดนโรมฟันที่หัว จึงกลายเป็นปีศาจดำเพื่อจะล้างแค้น แต่ล้างแค้นใคร โรม หรือ อินทรีแดง ความจริงแล้วก็น่าจะเป็นโรม แล้วที่ปลอมมาเป็นหมวดซิงค์เพื่อตามล่าอินทรีแดงทำไม ??? แต่ทั้งนี้ปมประเด็นการเป็นนักฆ่าของปีศาจดำเพื่อล้างแค้นก็ยังหนักแน่นกว่าการกลายเป็นอินทรีแดงของโรม
หมวดชาติ เป็นทั้งเพื่อนที่เคยอยู่หน่วยรบเดียวกับโรม และเป็นผู้ตามล่าจับ อินทรีแดง ซึ่งความสัมพันธ์ในส่วนนี้กลับแบนราบ และไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใดๆเลย ทั้งที่เป็นประเด็นที่น่าเล่น และสามารถนำมาเล่าเป็น flashback ของโรมได้อย่างดี
องค์ที่สี่ ประเด็นการเมือง
เป็นประเด็นที่มีมุมมองที่น่าสนใจ และทรงพลังเช่นฉากหาเสียง ฉากที่วาสนาไปแถลงข่าวที่พรรคฝ่ายค้าน ทั้งๆที่ตัวเองเคยถูกนักการเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นถึงคู่หมั้นของตัวเองหักหลัง แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าการเมืองต้องสู้กันที่นโยบายที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เหมือนกันหมด รักษาฟรี เรียนฟรี ทำงานฟรี(ฮา) ฯลฯ
องค์ที่ห้า ฉากแอ็คชั่น CG และโปรดักชั่นอลังการณ์
นับว่าเป็นมาตรฐานใหม่ของหนังไทยเลยทีเดียว ทั้งการออกแบบคิวบู๊ และ CG แม้บางฉากจะเวิ้นเว้อ ยาวนาน เกินจำเป็นเช่นฉากไล่ล่าระหว่างอินทรีแดงกับปีศาจดำบนตึก
องค์ที่หก เพลงประกอบภาพยนตร์
เรื่องเพลงประกอบภาพยนตร์ของคุณวิศิษฐ์ผมคิดว่าเชื่อขนมกินได้เลยครับเรื่องการคัดเลือกบทเพลงตั้งแต่ฟ้าทะลายโจรแล้ว ทั้งเพลงเปิดของคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ เพลงของคุณญารินดา ซึ่งในตัวหนังเหมือนกับมิวสิควิดิโอไปหน่อยแต่ก็ชดเชยได้ด้วยความไพเราะ และปิดท้ายด้วย ศัตรูที่รัก ที่โดดเด่นทั้งเสียงร้องของคุณบุรินทร์ ภาคดนตรี และเนื้อหา (ซึ่งเนื้อหาของเพลงศัตรูที่รักมีคนวิจารณ์ไว้ว่าน่าจะเป็นเพลงที่นายกอดีตคู่หมั้นร้องให้วาสนามากกว่า)
องค์ที่เจ็ด โฆษณาแฝงที่ไม่แฝงอีกต่อไป
เป็นการโฆษณาที่น่าเกลียดเกินรับได้ ไร้ศิลปะเป็นที่สุด ฉากป้ายที่กินเนื้อที่เกินครึ่งนึงของจอ นี่เราไม่ได้พูดถึงจอทีวีสี่สิบกว่านิ้วที่บ้านนะครับ อันนี้เป็นจอหนังในโรง
แม้หนังจะมีจุดบกพร่องมากมาย ซึ่งในเรื่องความรับผิดชอบก็หนีผู้กำกับไปไม่ได้ แต่ผมก็ยังแคลงใจอยู่เพราะมาตรฐานในเรื่องนี้ต่ำกว่าหนังเรื่องก่อนๆของผู้กำกับไปมาก ซึ่งผมก็ออกตัวไว้เลยว่าผมเป็นแฟนพันธ์แท้ของหนังเรื่องฟ้าทะลายโจร ซึ่งดูมาไม่ต่ำกว่า 20 รอบ จนผมพาลคิดว่าการทำงานกับค่ายใหญ่ที่มีเม็ดเงินมหาศาล ประกอบกับต้องการหวังผลทางการค้าอย่างเต็มที่ น่าจะมีอิทธิพลต่อตัวหนังอย่างมาก ทำให้คุณวิศิษฏ์ ถึงเอ่ยปากแบบท้อใจว่าจะไม่กำกับหนังอีก
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ผมหวังว่าคุณวิศิษฏ์ จะกลับมา และผมยังหวังลมฯแล้งฯว่าจะได้ได้ดู อินทรีแดง ฉบับ Director’s cut